Röhm, Ernst (1887-1934)

นายแอนสท์ เริม (พ.ศ. ๒๔๓๐-๒๔๗๗)

 แอนสท์ เริมเป็นหัวหน้ากองกำลังอิสระ (Free Corp)* และแกนนำคนสำคัญของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* ที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคนาซีเชื่อมั่นและไว้วางใจมาก เริมเป็นเพียงคนเดียวที่สามารถแสดงความคิดเห็นโต้แย้งและเจรจากับฮิตเลอร์ได้อย่าง เสมอภาค เมื่อฮิตเลอร์จัดตั้งหน่วยเอสเอ (SA)* หรือหน่วยพายุ (Storm Trooper) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๑ เพื่อเป็นกองกำลังของพรรคนาซีในการปกป้องคุ้มครองผู้นำพรรคและแกนนำของพรรค รวมทั้งทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงที่มีการจัดชุมนุมและการประชุมพรรค เริมได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหน่วยเอสเอ ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ เขาสนับสนุนฮิตเลอร์ในการยึดอำนาจทางการเมืองในเหตุการณ์ที่เรียกว่า กบฏโรงเบียร์ (Beer Hall Putsch)* แต่ความล้มเหลวของการกบฏทำให้เริมถูกจับพร้อมกับฮิตเลอร์และแกนนำพรรคนาซีคนอื่น ๆ อย่างไรก็ตามเขาได้รับการปล่อยตัวและถูกปลดออกจากกองทัพ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๕-๑๙๓๐ เริมไปทำงานที่โบลิเวีย (Bolivia) อเมริกาใต้โดยเป็นที่ปรึกษาทางทหาร ในปลาย ค.ศ. ๑๙๓๐ ฮิตเลอร์ติดต่อเริมให้กลับมาเยอรมนีเพื่อช่วยปรับโครงสร้างการบริหารของหน่วยเอสเอให้มีประสิทธิภาพและจะแต่งตั้งเขาเป็นหัวหน้าหน่วยเอสเอ เริมจึงเดินทางกลับประเทศใน ค.ศ. ๑๙๓๑ และภายในเวลาเพียง ๓ เดือน เขาสามารถเพิ่มจำนวนสมาชิกจากไม่กี่พันคนเป็น ๗๐,๐๐๐ คน หน่วยเอสเอจึงกลายเป็นฐานกำลังที่สำคัญของพรรคนาซีซึ่งมีส่วนช่วยให้ฮิตเลอร์ได้อำนาจทางการเมืองในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓

 เริมเกิดในครอบครัวขุนนางบาวาเรียที่เมืองมิวนิก (Munich) เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๘๗ แม้บรรพบุรุษจะเป็นทหารแต่ยูลีอุส เริม (Julius Röhm) บิดาก็เป็นข้าราชการธรรมดาที่ไม่สนใจการเมืองและตำแหน่งหน้าที่ในกองทัพ เขาปรารถนาเพียงการมีชีวิตที่มั่นคงและสุขสบายพอเพียง ลูกทั้ง ๓ คนจึงได้รับการเลี้ยงดูอย่างเอาใจใส่และเติบโตในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นและอิสระ เริมเป็นบุตรชายคนกลาง เขาเป็นเด็กเงียบเรียบร้อย ไม่ชอบแสดงออกและไม่ยุ่งเกี่ยวกับคนอื่นเมื่อโตขึ้นเริมทำให้ทุกคนในครอบครัวประหลาดใจด้วยการไม่ยอมเข้าศึกษาต่อในระดับสูง แต่สมัครเป็นทหารในกองทัพใน ค.ศ. ๑๙๐๖ ต่อมาเขาเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๕-๑๙๑๖ เริมดื่มดํ่ากับมิตรภาพและความผูกพันใกล้ชิดกับเพื่อนทหารในแนวรบในสนามเพลาะเขาร่วมรบอย่างกล้าหาญและได้รับบาดเจ็บหลายครั้งจนมีแผลเป็นที่ใบหน้าด้านซ้ายเป็นที่ระลึกเตือนความทรงจำจากสงคราม สงครามได้เปลี่ยนบุคลิกภาพเขาจากคนหนุ่มที่สุภาพ เงียบขรึม และเก็บตัว เป็นคนที่โผงผางเปิดเผย และกล้าแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึก

 หลังสงครามโลกสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๑๘ เยอรมนีซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ถูกบีบบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* และเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐที่เรียกว่า สาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๓๓)* เยอรมนีถูกลดกำลังอาวุธทุกรูปแบบและให้มีทหารประจำการได้ไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งส่งผลให้ทหารถูกปลดประจำการอย่างกะทันหันเป็นจำนวนมาก เริมซึ่งได้เลื่อนยศเป็นพันตรีก็ถูกปลดประจำการด้วย เขาโกรธแค้นและหันมาต่อต้านรัฐบาล ทั้งเชื่อข่าวลือเรื่อง “การลอบแทงข้างหลัง” ที่กองทัพสร้างขึ้นโดยชี้แนะว่านักการเมืองและฝ่ายสังคมนิยมทรยศต่อประเทศชาติด้วยการกดดันให้รัฐบาลยอมแพ้และลงนามในสนธิสัญญาอัปยศ เริมจึงเข้าร่วมในกองกำลังอิสระซึ่งเป็นกองกำลังพลเรือนติดอาวุธในเมืองมิวนิก จอมพล ริทเทอร์ ฟอน เอพพ์ (Ritter von Epp) ผู้บังคับบัญชากองกำลังอิสระแต่งตั้งเริมเป็นหัวหน้าสาขาของกองกำลังอิสระซึ่งหน้าที่หลักคือการปราบปรามกวาดล้างพวกคอมมิวนิสต์

 ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ เริมมีโอกาสพบและรู้จักกับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในการประชุมของพรรคแรงงานเยอรมัน (German Workers’ Party)* ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาชาตินิยมที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นหลังสงคราม เขาประทับใจ เนื้อหาการบรรยายของฮิตเลอร์เกี่ยวกับ “ปัญหาเรื่องใครผิดในสงคราม” (war guilt question) ซึ่งวิพากษ์โจมตีประเทศสัมพันธมิตรและต่อต้านสนธิสัญญาแวร์ซายตลอดจนเรียกร้องให้สร้างรัฐชาติที่บริสุทธิ์ขึ้นใหม่เพื่อชาวเยอรมันเท่านั้น ฮิตเลอร์โน้มน้าวเริมให้เข้าเป็นสมาชิกพรรคแรงงานเยอรมันได้สำเร็จ เขาจึงประสานการดำเนินงานของกองกำลังอิสระให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของพรรคแรงงานเยอรมันและสามารถชักจูงจอมพล ฟอน เอพพ์ให้ใช้เงินงบประมาณลับของกองทัพสนับสนุนกิจกรรมของพรรคแรงงานเยอรมันรวมทั้งการจัดทำหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของพรรคชื่อ Völkischer Beobachter ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ พรรคแรงงานเยอรมันปรับโครงสร้างการดำเนินงานและแนวนโยบายใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าพรรคนาซี ฮิตเลอร์ ให้จัดตั้งกองกำลังรักษาความปลอดภัยของพรรคขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้นำและนักพูดของพรรคในการชุมนุมปราศรัยและทำหน้าที่รักษาความเป็นระเบียบในช่วงการประชุมและการจัดชุมนุม เริมได้ปรับปรุงกองกำลังรักษาความปลอดภัยให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยประยุกต์แนวปฏิบัติของหน่วยจู่โจมพิเศษของกองทัพที่เรียกชื่อว่า “กองกำลังพายุ” มาใช้และให้เรียกชื่อกองกำลังรักษาความปลอดภัยว่า “ชตูร์มอับไทลุง” (Sturmabteilung) หรือที่เรียกกันทั่วไปในเวลาต่อมาว่า เอสเอ เริมได้เกณฑ์เหล่านักเลงและอันธพาล คนหนุ่มที่ตกงาน ทหารปลดประจำการรวมทั้งสมาชิกกองกำลังอิสระเข้าเป็นสมาชิกได้เป็นจำนวนมากจนเอสเอมีขนาดใหญ่และเข้มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว ฮิตเลอร์จึงแต่งตั้งเขาเป็นผู้บังคับบัญชาเอสเอสูงสุด (Oberster SA-Führer -Supreme SA)

 เริมมุ่งหวังจะทำให้เอสเอเป็นกองกำลังของพรรคนาซี เขาเน้นการใช้กำลังข่มขู่คุกคามและการสร้างความหวาดกลัวตามท้องถนนและสถานที่สาธารณะเพราะเชื่อว่าการเป็นเจ้าถนนคือหัวใจของการมีอำนาจและยังทำให้ประชาชนทั่วไปจดจำและอยู่ในภาวะตื่นตัวเสมอเขาสนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มที่ต่อต้านพรรคนาซีและกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม ฮิตเลอร์เห็นด้วยกับแนวทางปฏิบัติของเอสเอเพราะเชื่อว่าวิธีการดังกล่าวมีส่วนเสริมสร้างภาพลักษณ์ของพรรคด้านความเข้มแข็งมีพลัง และการแสดงออกถึงความเชื่อมั่นจงรักภักดีของสมาชิก บทบาทของเอสเอที่มีมากขึ้นเปิดโอกาสให้เริมเป็นที่ยอมรับของกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาชาตินิยมอื่น ๆ จนนำไปสู่ความร่วมมือในการคบคิดแผนยึดอำนาจในกรุงเบอร์ลิน แต่แผนดังกล่าวก็ล้มเหลว เพราะยังมีกำลังไม่เพียงพอทั้งกองทัพที่สนับสนุนรัฐบาลรู้ระแคะระคายและเฝ้าจับตาการเคลื่อนไหวของเอสเอตลอดเวลา

 ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ เยอรมนีเผชิญปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจที่เป็นผลสืบเนื่องจากกองทหารฝรั่งเศสและเบลเยียมเข้ายึดครองแคว้นรูร์ (Ruhr) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญบนส่งแม่นํ้าไรน์ กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินและคำชี้นำจากสหภาพโซเวียตก็เตรียมการที่จะก่อการยึดอำนาจทางการเมืองในเขตไรน์ลันด์ ประธานาธิบดีฟรีดริช เอแบร์ท (Friedrich Ebert)* จึงประกาศกฤษฎีกาฉุกเฉิน (Emergency Decree)* เพื่อรักษาความสงบและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคมทั่วประเทศและให้นายพลฮันส์ ฟอน เซคท์ (Hans von Seeckt)* เป็นผู้นำในการปราบปรามการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้าย ฮิตเลอร์จึงเห็นเป็นโอกาสใช้สภาวการณ์ทางการเมืองและสังคมที่ดำรงอยู่ก่อกบฏเพื่อยึดอำนาจและนำไปสู่เหตุการณ์กบฏโรงเบียร์ที่เมืองมิวนิกระหว่างวันที่ ๘-๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๓ เริมมีบทบาทสำคัญในการคุมกำลังเอสเอที่ติดอาวุธเข้ายึดศูนย์บัญชาการทั้งของทหารและตำรวจในรัฐบาวาเรีย และเคลื่อนกำลังมาสมทบกับฮิตเลอร์และแฮร์มันน์ เกอริง (Hermann Göring)* แกนนำของพรรคนาซีซึ่งปิดล้อมโรงเบียร์เบือร์เกอร์เบราเคลเลอร์ (Bürgerbrau Keller) ที่กักตัวประกันที่เป็นกลุ่มชนชั้นนำของบาวาเรียไว้ อย่างไรก็ตาม กบฏโรงเบียร์ก็ล้มเหลวเพราะวางแผนไม่รัดกุมและขาดการสนับสนุนจากนักธุรกิจและมวลชนทั่วไป เริมถูกจับพร้อมกับแกนนำพรรคนาซีคนอื่น ๆ ส่วนฮิตเลอร์ถูกจำคุก ๕ ปี ปรับ ๒๐๐ มาร์คทองคำพรรคนาซีและหน่วยเอสเอถูกยุบ

 อย่างไรก็ตาม เริมซึ่งถูกข้อหาก่อกบฏไม่ได้ถูกตัดสินจำคุก แม้ศาลจะตัดสินจำคุกเขา ๑ ปี ๓ เดือน แต่เขาก็ได้รับการปล่อยตัวทันทีหลังจากให้คำมั่นสัญญาว่าจะประพฤติดีและไม่สร้างปัญหาทางการเมือง เขาจึงเพียงถูกรอลงอาญาและถอดยศทั้งปลดออกจากกองทัพหลังได้รับการปล่อยตัว เริมรวบรวมสมาชิกเอสเอจัดตั้งเป็นกองกำลังที่เรียกชื่อว่า “ฟรอนท์บันน์” (Frontbann) ขึ้นระหว่างเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๔ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๕ แม้ฟรอนท์บันน์จะมีบทบาทไม่มากนัก แต่ก็ยังคงสานต่อแนวทางปฏิบัติของเอสเอด้วยการก่อกวนทำร้ายพวกสังคมนิยมและกลุ่มการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคนาซีตามโอกาสและเงื่อนไขที่เหมาะสม ในช่วงเวลาดังกล่าวเริมซึ่งไม่พอใจแนวนโยบายของอัลเฟรด โรเซนแบร์ก (Alfred Rosenberg)* ผู้นำพรรคประชาคมพลเมืองเยอรมันใหญ่ (Greater German People’s Community) และเป็นแกนนำด้านอุดมการณ์ของพรรคนาซีที่ฮิตเลอร์มอบหมายให้ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าและดูแลกิจกรรมพรรคในช่วงที่ถูกยุบหันมาสนับสนุนเกรกอร์ ชตราสเซอร์ (Gregor Strasser)* แกนนำปีกซ้ายของพรรคนาซีที่เป็นคู่ปรับของโรเซนแบร์ก ชตราสเซอร์ได้จัดตั้งพรรคสังคมเสรีแห่งชาติ (National Socialist Freedom Party) ซึ่งมีนโยบายสังคมนิยมขึ้นในเยอรมนีตอนเหนือและร่วมมือกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ลงสมัครเลือกตั้งสภาไรค์ชตาก (Reichstag) ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ผู้สมัครอดีตสมาชิกพรรคนาซีรวม ๑๐ คนซึ่งรวมทั้งเริม ชตราสเซอร์ และเอริช ลูเดนดอร์ฟ (Erich Ludendorff)* ได้รับเลือกตั้งด้วยอย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ เริมซึ่งเบื่อหน่ายชีวิตที่ขาดสีสันได้ตัดสินใจลาออกและเดินทางไปทำงานเป็นครูฝึกทหารและที่ปรึกษาทางการทหารในโบลิเวีย

 เมื่อฮิตเลอร์พันโทษก่อนกำหนดในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๔ เขาคิดจัดตั้งพรรคนาซีขึ้นใหม่อีกครั้งใน ค.ศ. ๑๙๒๕ โดยรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ผู้นำ ฮิตเลอร์ปรับโครงสร้างการบริหารพรรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและปรับหน้าที่ความรับผิดชอบของฟรอนท์บันน์ใหม่โดยเน้นการปลุกระดมโฆษณาลัทธินาซีและเป็นกำลังต่อต้านพวกคอมมิวนิสต์และยิวทั้งให้ฟรอนท์บันน์กลับมาใช้ชื่อเดิมว่าเอสเอ ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๓๐ ฮิตเลอร์ ปรับโครงสร้างของเอสเออีกครั้งโดยเขาดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาเอสเอสูงสุด และแต่งตั้งตำแหน่งหัวหน้าหน่วยเอสเอ (Stabschef SA - SA Chief of staff) ที่รับคำสั่งจากเขาเพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บัญชาการเอสเอในนามของฮิตเลอร์ หลังการปรับโครงสร้างเอสเอแล้วฮิตเลอร์ติดต่อเริมให้กลับมาเยอรมนีเพื่อเป็นหัวหน้าเอสเอเริมจึงเดินทางกลับประเทศและเช้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าเอสเอเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๑ ภายในเวลา เพียง ๓ เดือนเริมสามารถเพิ่มจำนวนสมาชิกเอสเอ จาก ๖๐,๐๐๐ คน ใน ค.ศ. ๑๙๓๐ เป็น ๑๗๐,๐๐๐ คนและใน ค.ศ. ๑๙๓๒ เป็น ๔๐๐,๐๐๐ คน เขายังปรับกลไกการทำงานของเอสเอให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการเพิ่มจำนวนกรม (gruppen - groups) ของเอสเอให้เท่ากับโครงสร้างการปกครองของพรรคนาซีที่แบ่งเยอรมนีออกเป็น ๓๕ เขต (gaul - districts) และจัดตั้งหน่วยยานยนต์นาซี (Nazi Motor Corps) ขึ้นเพื่อติดตามคนร้าย

 เริมซึ่งเปิดเผยตนเองเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศยังจัดตั้งชมรมรักร่วมเพศขึ้นในหน่วยงานเอสเอเพื่อใช้เป็นแหล่งบันเทิงและพบปะกันระหว่างสมาชิกเอสเอที่มีรสนิยมเดียวกัน สมาชิกยังมีหน้าที่คัดเลือกเด็กหนุ่มหน้าตาดีเข้าร่วมชมรม สมาชิกชมรมส่วนใหญ่มักก้าวหน้าในการงาน คนสนิทของเริม เช่น ออสวัลด์ ฟุคส์ (Oswald Fuchs) ก็เป็นหัวหน้าควบคุมศูนย์ปฏิบัติการของเอสเอส่วนแผนกที่เป็นหัวใจของเอสเอคือ แผนกจารกรรมแผนกบุคคล แผนกองค์การและการเงิน รวมทั้งแผนกสื่อสิ่งพิมพ์ก็มีสมาชิกเอสเอที่เริมไว้วางใจควบคุมดูแลพฤติกรรมทางเพศของเริมและเพื่อนพ้องมีส่วนทำให้แกนนำพรรคนาซีคนอื่น ๆ ไม่พอใจเพราะเห็นว่ามีส่วนทำลายชื่อเสียงของพรรคและฟือเรอร์ (Führer)* ทั้งกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามก็ใช้เป็นประเด็นโจมตีและล้อเลียนว่า พรรคนาซีกำลังถูกครอบงำด้วยเหล่าสวัสติกะสีชมพู (pink swastika สีชมพูเป็นสีสัญลักษณ์ของพวกรักร่วมเพศ)

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ หนังสือพิมพ์ Munich Post ของฝ่ายสังคมนิยมตีพิมพ์จดหมายส่วนตัวของเริมที่มีถึงเพื่อนสนิทโดยเนื้อความในจดหมายเล่าถึงความสัมพันธ์ทางเพศของเริมกับเด็กหนุ่มหลายคน ชีวิตส่วนตัวของเริมจึงกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวระดับชาติและสร้างความอับอายและเสื่อมเสียแก่พรรคนาซี ทั้งมีการนำประเด็นดังกล่าวไปอภิปรายในรัฐสภาด้วย ในเวลาต่อมาเริมถูกขับออกจากสมาคมนายทหารเยอรมัน (German Officer’s Association) ด้วยข้ออ้างมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในฐานะนายทหาร อย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์ไม่สนใจ และไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัว การเพิกเฉยของฮิตเลอร์ทำให้เริมลำพองใจมากขึ้นและทุ่มเทตนทำงานให้ฮิตเลอร์ทั้งใจและกายเริมจึงใกล้ชิดกับฮิตเลอร์มากขึ้น เขาเป็นแกนนำนาซีเพียงคนเดียวที่เรียกฮิตเลอร์ด้วยชื่อต้นคือ “อดอล์ฟ” (Adolf) แทน “ไมน์ ฟือเรอร์” (Mein Führer) เช่น คนอื่น ๆ ฮิตเลอร์ก็ใช้สรรพนาม “du” กับเริมซึ่งแสดงถึงความสนิทสนมไว้วางใจและในวงในพรรคนาซีมีเพียงเริม เกอริง และโยเซฟ เพาล์ เกิบเบิลส์ (Joseph Paul Goebbels)* เท่านั้นที่ใช้สรรพนาม “du” กับฮิตเลอร์ได้

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๒ เริมใช้หน่วยเอสเอทำร้ายและโจมตีพวกคอมมิวนิสต์และกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรวมทั้งพวกยิว โดยสร้างภาพว่าการปะทะกันอย่างนองเลือดตามท้องถนนมีชนวนเหตุจากพวกคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ในสหภาพโซเวียตเพื่อก่อการปฏิวัติเอสเอซึ่งเป็นเสมือนทหารกองหน้าในการต่อสู้กับภัยแดงจึงต้องปฏิบัติการเด็ดขาดเพื่อป้องกันการเกิดสงครามกลางเมืองและยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น เอสเอยังข่มขู่ คุกคามและทำร้ายปัญญาชน นักธุรกิจ และข้าราชการที่ต่อต้านแนวนโยบายของพรรคนาซี นอกจากนี้ เริมยังให้เอสเอสนับสนุนการชุมนุมประห้วงของคนงานและเข้าแทรกแซงในปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับกรรมกร ทั้งโจมตีทำร้ายผู้ที่จะสลายการชุมนุมของคนงานในการเลือกตั้งสภาไรค์ชตากเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ เริมและเอสเอมีบทบาทสำคัญในการข่มขู่คุกคามผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงไม่ให้ลงคะแนนแก่ฝ่ายตรงข้ามกอปรกับนโยบายหาเสียงของฮิตเลอร์ที่เน้นการโจมตีสนธิสัญญาแวร์ซายและการทำสงครามเชื้อชาติเพื่อกำจัดยิวส่งผลให้พรรคนาซีมีชัยชนะในการเลือกตั้งโดยได้ที่นั่ง ๒๓๐ จากจำนวน ๖๐๘ ที่นั่ง แม้พรรคนาซีจะได้เสียงข้างมากแต่ประธานาธิบดีเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* ปฏิเสธที่จะแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีและแต่งตั้งฟรันซ์ ฟอน พาเพิน (Franz von Papen)* ผู้นำคนหนึ่งของพรรคเซนเตอร์ (Center Party)* เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

 อย่างไรก็ตาม พาเพินก็บริหารประเทศได้เพียงช่วงเวลาอันสั้นและถูกบีบให้ลาออก นายพลคูร์ท ฟอน ชไลเชอร์ (Kurt von Schleicher)* ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทนเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ ชไลเชอร์ซึ่งต้องการกีดกันฮิตเลอร์ไม่ให้มีบทบาททางการเมืองได้ขอให้เกรกอร์ ชตราสเซอร์ ผู้นำปีกซ้ายของพรรคนาซีเข้าร่วมรัฐบาลโดยเป็นรองนายกรัฐมนตรี เริมซึ่งเคยสนับสนุนชตราสเชอร์ต่อต้านแผนของชไลเชอร์ เพราะเห็นว่าเป็นการสร้างความแตกแยกภายในพรรคนาซีในปลาย ค.ศ. ๑๙๓๓ เขามีส่วนสนับสนุนฮิตเลอร์ให้จัดประชุมวาระพิเศษขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรค ฮิตเลอร์สามารถแก้ไขความบาดหมางและโน้มน้าวที่ประชุมให้สนับสนุนเขาได้ ในที่สุดชตราสเซอร์ก็ตัดสินใจ ไม่รับข้อเสนอของชไลเชอร์และลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรค ฮิตเลอร์จึงกวาดล้างฐานอำนาจของชตราสเซอร์ในพรรคและให้เริมควบคุมกลุ่มปีกซ้ายภายในพรรค

 เมื่อฮิตเลอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ เริมคาดหวังว่าสมาชิกเอสเอที่มีส่วนช่วยให้ฮิตเลอร์ก้าวสู่อำนาจทางการเมืองจะได้รับรางวัลตอบแทนและฮิตเลอร์จะปฏิรูปการเมืองอย่างถอนรากถอนโคน แต่เขาก็ผิดหวังเพราะฮิตเลอร์กลับสนับสนุนนักการเมืองหัวอนุรักษ์ นายทุน และนายทหารระดับสูงให้เข้าร่วมในคณะรัฐบาล เริมและกลุ่มปีกซ้ายของพรรคนาซีจึงเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องการก่อการปฏิวัติครั้งที่ ๒ เพื่อกดดันฮิตเลอร์ให้ปรับแนวนโยบายและคณะรัฐบาล เริมซึ่งต้องการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังเรียกร้องให้เปลี่ยนสถานภาพของหน่วยเอสเอซึ่งเป็นเพียงกองกำลังของพรรคนาซีเป็นกองทัพแห่งชาติ โดยให้กองทัพเยอรมัน (Reichswehr) เข้าร่วมกับเอสเอภายใต้การนำของเขาเพื่อสร้าง “กองทัพประชาชน” ขึ้น ขณะเดียวกันเริมก็สนับสนุนสมาชิกเอสเอให้จัดการชุมนุมและเดินขบวนเพื่อโน้มน้าวมวลชนให้คล้อยตามแนวความคิดที่จะก่อการปฏิวัติครั้งที่ ๒ และเพื่อกดดันฮิตเลอร์ด้วย

 ข้อเรียกร้องของเริมและการเคลื่อนไหวของเอสเอและสมาชิกนาซีปีกซ้ายทำให้ชิตเลอร์หวาดวิตกเพราะในขณะนั้นประธานาธิบดีรินเดนบูร์กในวัย ๘๖ ปีมีสุขภาพอ่อนแอ หากเสียชีวิตลง กลุ่มการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมอาจผลักดันให้มีการแต่งตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ที่มีแนวความคิดอนุรักษ์ซึ่งจะทำให้แผนของชิตเลอร์ที่จะรวมตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดีเป็นตำแหน่งเดียวกันล้มเหลว ฮิตเลอร์ตระหนักดีว่าเขาต้องได้รับการสนับสนุนจากกองทัพในการสร้างฝันให้เป็นจริง ฮิตเลอร์จึงตกลงลับกับผู้นำกองทัพที่จะทอนอำนาจเอสเอและเริมลง และสัญญาจะเสริมสร้างกำลังทหารทั้งทางบกและทางทะเล ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๓๓ ฮิตเลอร์ได้เริ่มนโยบายรุกด้านการต่างประเทศด้วยการติดอาวุธให้กองทัพเพื่อหาโอกาสละเมิดข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซาย เขายังมีคำสั่งห้ามเอสเอเคลื่อนไหวทำกิจกรรมที่จะทำให้สาธารณชนตื่นตระหนก เริมขุ่นเคืองและต่อต้านฮิตเลอร์อย่างเปิดเผยมากขึ้น

 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ เริมวิพากษ์โจมตีนโยบายต่างประเทศของฮิตเลอร์อย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ทั้งต่อต้านนโยบายการควบคุมการแสดงออกทางความคิดเห็นเขายังโจมตีกลุ่มวงในของพรรคนาซีซึ่งประกอบด้วยเกิบเบิลส์ เกอริง ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* และรูดอล์ฟ เฮสส์ (Rudolf Hess)* ว่าประจบสอพลอฮิตเลอร์และดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดทางการเมือง การโจมตีของเริมทำให้เกอริง ฮิมม์เลอร์ เกิบเบิลส์ และไรน์ฮาร์ด ไฮดริช (Reinhard Heydrich)* คนสนิทของฮิมม์เลอร์รวมตัวกันหาทางกำจัดเริม ขณะเดียวกันสมาชิกนาซีปีกขวาที่ไม่พอใจพฤติกรรมรักร่วมเพศของเริมและเหล่าผู้นำเอสเอก็เรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับหน่วยเอสเอเพื่อรักษาจริยธรรมที่บริสุทธิ์ในสังคมและปกป้องชื่อเสียงของพรรคและฟือเรอร์

 ฮิตเลอร์พยายามหาทางประนีประนอมกับเริม ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ เขาแต่งตั้งเริมเป็นรัฐมนตรีลอยในคณะรัฐบาลแต่ไม่ได้ให้อำนาจหน้าที่ใด ๆ และผลักดันการออกกฎหมายว่าด้วยการประกันความเป็นเอกภาพของพรรคและรัฐ (Law for Securing the Unity of Party and state) ซึ่งเน้นว่าพรรคคือเสาหลักของรัฐและควบคุมกิจกรรมทุก ๆ ด้านของรัฐ กฎหมายดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายจะป้องปรามการเคลื่อนไหวเตรียมก่อการปฏิวัติของเอสเอ ต่อมา ในวันปีใหม่ ค.ศ. ๑๙๓๔ ฮิตเลอร์เดือนเริมว่าการก่อการปฏิวัติครั้งที่ ๒ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและเป็นการไม่เหมาะสมที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นเริมตอบโต้ด้วยการกล่าวโจมตีฮิตเลอร์ที่มีส่วนทำให้การปฏิวัติของพรรคนาซีไร้คุณค่าและความสำคัญทั้งไม่บรรลุเป้าหมายที่สมบูรณ์ ฮิตเลอร์จึงมีคำสั่งให้หน่วยข่าวกรองและความมั่นคง (Intelligence and Security Body) ที่เรียกกันทั่วไปว่า หน่วยเอสดี (SD)* รวบรวมข้อมูลและความเคลื่อนไหวของเริมและแกนนำเอสเอทั้งให้เกสตาโป (Gestapo)* หรือตำรวจลับคอยเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของเอสเอ

 ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๔ ฮิตเลอร์จัดการประชุมระหว่างนายพลแวร์เนอร์ ฟอน บลอมแบร์ก (Werner von Blomberg) กับเริมและฮิมม์เลอร์ผู้นำหน่วยเอสเอส (SS)* เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับสถานภาพของกองทัพและเอสเอในจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* เริมถูกบีบให้ลงนามในข้อตกลงว่า เขาจะเลิกเรียกร้องให้กองทัพมาอยู่ใต้การควบคุมของเอสเอ แม้เริมจะไม่พอใจแต่ก็ไม่มีทางเลือกและเขาก็ยังไม่มีแผนที่ชัดเจนในการก่อการปฏิวัติ กองทัพซึ่งพอใจในผลการประชุมจึงสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ฮิตเลอร์ในเรื่องของความจงรักภักดีด้วยการห้ามชาวยิวเข้ารับราชการทหารและนำเครื่องหมายสวัสติกะ (swastika) ของพรรคนาซีมาเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ ในเวลาต่อมาฮิตเลอร์ยังกล่าวกับรอเบิร์ต แอนโทนี อีเดน (Robert Anthony Eden)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า เขาจะลดกำลังของเอสเอลงประมาณ ๒ ใน ๓ เริมซึ่งทราบเรื่องโกรธแค้นมากและวิจารณ์โจมตีฮิตเลอร์อย่างดุเดือดทั้งติดอาวุธให้กับเอสเอ ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่าเป็นการข่มขู่เรื่องการก่อการปฏิวัติ เริมยังยื่นข้อเสนอแก่กองทัพให้ยอมรับเหล่าแกนนำเอสเอจำนวนหนึ่งปฏิบัติงานในกองทัพแต่บลอมแบร์กปฏิเสธ

 เหล่าแกนนำนาซีที่เป็นศัตรูของเริมได้สร้างหลักฐานเท็จว่าเริมรับสินบนจากรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อโค่นอำนาจ ฮิตเลอร์ และปล่อยข่าวว่าการที่ฮิตเลอร์พยายามปกป้องเริมและหน่วยเอสเอเป็นเพราะฮิตเลอร์มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศด้วย แม้ข่าวลือดังกล่าวจะไม่มีผลต่อฮิตเลอร์มากนักเพราะเขายังตัดใจทำลายเริมไม่ได้ แต่ฮิตเลอร์ก็เริ่มหงุดหงิดกับพฤติกรรมของเริมโดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นวิจารณ์โจมตีนโยบายของพรรคนาซีซึ่งฮิตเลอร์เห็นว่ามีส่วนทำลายความน่าเชื่อถือทางการเมืองของพรรค ในปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๔ ฮิตเลอร์ จึงเรียกเริมมาพบและเจรจากันเป็นเวลาเกือบ ๕ ชั่วโมง โดยขอให้เริมล้มเลิกความคิดการจะก่อการปฏิวัติและให้หยุดกิจกรรมการเคลื่อนไหวของเอสเอ ฮิตเลอร์สัญญาว่าจะไม่ยุบหน่วยเอสเอและอนุญาตให้เริมและเอสเอทั้งหมดลาพักได้ ๑ เดือน เริมยอมปฏิบัติตามคำสั่งเพื่อให้ฮิตเลอร์เห็นว่าเขาและหน่วยเอสเอยังจงรักภักดีและเชื่อฟังผู้นำทั้งจะเป็นการยุติข่าวลือเรื่องการเตรียมก่อการปฏิวัติ

 อย่างไรก็ตาม ข่าวลือเกี่ยวกับการก่อการปฏิวัติของเอสเอก็ยังคงแพร่กระจายทั่วไปและมีส่วนสร้าง บรรยากาศตึงเครียดทางสังคมทั้งทำให้ภาวะเศรษฐกิจหยุดนิ่ง ต่อมา ฮิตเลอร์ได้รับรายงาน (เท็จ) ทั้งจากเกอริงและฮิมม์เลอร์ว่า หน่วยเอสเอจะก่อการปฏิวัติขึ้นในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ที่กรุงเบอร์ลินและเมืองมิวนิก ทั้งเกอริงและฮิมม์เลอร์ยังส่งรายงานให้ผู้นำกองทัพและพยายามโน้มน้าวฮิตเลอร์ให้เชื่อในรายงานจนเห็นชอบกับการกำจัดเริมและกวาดล้างเอสเอ กองทัพก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ขณะเดียวกันเหล่านักธุรกิจอุตสาหกรรมซึ่งสนับสนุนพรรคนาซีให้ได้อำนาจใน ค.ศ. ๑๙๓๓ ก็กดดันฮิตเลอร์ให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเร็ว ประธานาธิบดีฟอนฮินเดนบูร์กยังยื่นคำขาดให้ฮิตเลอร์ยุดิปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองภายในและหากทำไม่ได้เขาจะประกาศกฎอัยการศึกซึ่งมีนัยว่าฮิตเลอร์ต้องหมดอำนาจลง ในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ฮิตเลอร์ได้รับรายงานว่าเริมมีคำสั่งให้หัวหน้าเอสเอทุกหน่วยมาประชุมกับเขาในตอนบ่ายของวันที่ ๓๐ มิถุนายน และให้กองกำลังเอสเอทุกหน่วยประจำการเพื่อฟังคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา เกิบเบิลส์ให้คำแนะนำ แก่ฮิตเลอร์ว่าการกำจัดผู้คบคิดทรยศ ๑๐๐ คนเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและดีกว่าที่จะปล่อยให้เหล่าเอสเอที่ไม่ เกี่ยวข้องเช่นฆ่าทำสงครามกับประชาชนที่บริสุทธิ์กันเองฮิตเลอร์จึงมีคำสั่งให้เริมและผู้นำเอสเอทั้งหมดมาพบเขาในช่วงเช้าของวันที่ ๓๐ มิถุนายน ณ โรงแรมที่บัดวิสเซ (Bad Wiessee) ทางตอนใต้ของมิวนิก ด้วยข้ออ้างว่าสมาชิกเอสเอจำนวนหนึ่งได้หยามเกียรตินักการทูตชาวต่างประเทศในไรน์ลันด์และเขาต้องการทราบคำชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ฮิตเลอร์ก็เรียกประชุมด่วนหน่วยเอสเอสเพื่อเตรียมการกวาดล้างเริมและเอสเอและให้เกอริงไปควบคุมการปฏิบัติการที่กรุงเบอร์ลิน

 การเคลื่อนไหวของหน่วยเอสเอสมีส่วนทำให้ฝ่ายเอสเอหวาดระแวง ในคืนวันที่ ๒๙ มิถุนายน สมาชิกเอสเอ กว่า ๓,๐๐๐ คนชุมนุมก่อกวนตามถนนสายต่าง ๆ ในเมืองมิวนิกและตะโกนว่าเอสเอจะบดขยี้กลุ่มหรือฝ่ายที่ทรยศต่อองค์การทั้งกล่าวโจมตีฮิตเลอร์และกองทัพอย่างรุนแรง เมื่อฮิตเลอร์ทราบข่าวการเคลื่อนไหวดังกล่าวในเช้าวันที่ ๓๐ มิถุนายนเขาโกรธมากและสั่งการกวาดล้างทันทีโดยไม่รอให้มีการประชุมหน่วยเอสเอตามแผนที่กำหนด ฮิตเลอร์และทหารองครักษ์เอสเอสเดินทางไปโรงแรมบัดวิสเซเพื่อจับกุมเริมและเหล่าผู้นำเอสเอที่พักอยู่ที่นั่น แกนนำเอสเอหลายคนถูกยิงทิ้งในห้องพักและบ้างถูกลากตัวออกมาสังหารนอกห้องพร้อมกับคู่นอนเริมถูกจับขณะกำลังนอนเปลือยเคียงข้างเอสเอหนุ่มรูปงามเขาถูกนำตัวไปควบคุมพร้อมกับสมาชิกเอสเอคนอื่น ๆ ที่คุกชตาเดไฮม์ (Stadeheim) ในเมืองมิวนิก ในระยะแรกฮิตเลอร์ต้องการอภัยโทษให้เริมเพราะคำนึงถึงความจงรักภักดีของเขาในอดีต ๆ ที่ผ่านมา แต่เกอริงและฮิมม์เลอร์ต่างกดดันฮิตเลอร์อย่างหนักจนเขาตัดสินใจให้สังหารเริมต่อมาในวันที่ ๒ กรกฎาคม ฮิตเลอร์ส่งเทโอดอร์ ไอค์เคอ (Theodor Eicke) หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ฟือเรอร์เอสเอสและผู้ควบคุมค่ายกักกัน (Cencentration Camp)* ดาเคา (Dachau) มาพบเริมและให้ปลิดชีวิตตนเองด้วยปืนพกที่นำมาให้ แต่เริมปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม อีก ๑๐ นาที ต่อมาเมื่อไอค์เคอกลับมาพบเริมอีกครั้ง เริมถอดเสื้อและเปิดอกให้ไอค์เคอยิง เขาเสียชีวิตในตอนบ่ายของวันที่ ๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ ขณะอายุ ๔๔ ปี ศพเริมถูกนำไปบรรจุไว้ที่สุสานเวสต์ฟรีดฮอฟ (Westfriedhof) เมืองมิวนิก

 หลังเริมเสียชีวิต ฮิตเลอร์ชี้แจงต่อคณะรัฐบาลในวันที่ ๓ กรกฎาคม ว่าการสังหารเริมเป็นเพราะเขาคิดก่อการปฏิวัติและมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมในช่วงเวลาเดียวกันฮิตเลอร์ก็ให้ดำเนินการกวาดล้างเอสเอและกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรวมทั้งศัตรูของเขาอย่างลับ ๆ และใครก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องของเริมจะถูกจับกุมทันที หลังการกวาดล้างที่ดำเนินไปเกือบสัปดาห์ ฮิตเลอร์แถลงต่อสภาไรค์ชตากเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคมซึ่งถ่ายทอดทางวิทยุทั่วประเทศถึงเหตุผลและความจำเป็นของการกำจัดเริมและหน่วยเอสเอ เพื่อรักษาไว้ซึ่งกฎหมายและความเป็นระเบียบของสังคมเขาเรียกชื่อการกวาดล้างที่เกิดขึ้นว่า “คืนแห่งมีดยาว” (Night of the Long Knives)* หรือที่เรียกกันทั่วไปในเวลาต่อมาว่า กรณีเริม (Röhm Affair) หรือการกวาดล้างอันนองเลือด (Blood Purge) สภาไรค์ชตากยอมรับเหตุผลของฮิตเลอร์และลงมติเอกฉันท์ผ่านกฎหมายว่าตัวยมาตรการป้องกันตัวของรัฐ (Law Regarding Measures of state Self-Defense) ที่ถือว่าปฏิบัติการกวาดล้างที่ฮิตเลอร์ดำเนินการเป็นการป้องกันตัวของรัฐที่ชอบธรรมตามกฎหมายและเป็นหน้าที่และการกระทำที่กล้าหาญของวีรบุรุษ อย่างไรก็ตาม ข้อหาการคบคิดแผนก่อการปฏิวัติของเริมและเอสเอก็ไม่ได้รับการเปิดเผยและพิสูจน์ให้เห็นชัดเจน.



คำตั้ง
Röhm, Ernst
คำเทียบ
นายแอนสท์ เริม
คำสำคัญ
- กฎหมายว่าด้วยการประกันความเป็นเอกภาพของพรรคและรัฐ
- กบฏโรงเบียร์
- กรณีเริม
- กองกำลังพายุ
- กองกำลังอิสระ
- การกวาดล้างเริม
- การกวาดล้างอันนองเลือด
- เกสตาโป
- เกอริง, แฮร์มันน์
- ค่ายกักกัน
- คืนแห่งมีดยาว
- ชตราสเซอร์, เกรกอร์
- ชตูร์มอับไทลุง
- ชไลเชอร์, คูร์ท ฟอน
- เซคท์, ฮันส์ ฟอน
- บลอมแบร์ก, แวร์เนอร์ ฟอน
- บอลเชวิค
- พรรคนาซี
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคประชาคมพลเมืองเยอรมันใหญ่
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พาเพิน, ฟรันซ์ ฟอน
- ฟรอนท์บันน์
- ฟือเรอร์
- ฟุคส์, ออสวัลด์
- เริม, ยูลีอุส
- เริม, แอนสท์
- โรเซนแบร์ก, อัลเฟรด
- ลัทธินาซี
- ลูเดนดอร์ฟ, เอริช
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สภาไรค์ชตาก
- เอแบร์ท, ฟรีดริช
- เอพพ์, จอมพล ริทเทอร์ ฟอน
- เอสดี
- เอสเอ
- เอสเอส
- ไอค์เคอ, เทโอดอร์
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
- เฮสส์, รูดอล์ฟ
- ไฮดริช, ไรน์ฮาร์ด
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1887-1934
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๓๐-๒๔๗๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-